การทำน้ำสกัดชีวภาพ


                                                   น้ำสกัดชีวภาพ
         น้ำสกัดชีวภาพ เป็นน้ำสกัดที่ได้จากการย่อยสลายเศษวัสดุเหลือใช้จากส่วนต่าง ๆ ของพืชหรือสัตว์ โดยผ่านการบวนการหมักในสภาพที่ไม่มีออกซิเจน (anaerobic condition) มีจุลินทรีย์ทำหน้าที่ย่อยสลายเศษซากพืชและซากสัตว์เหล่านั้นให้กลายเป็นสารละลาย รวมถึงการใช้เอนไซด์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหรือมีการเติมเอนไซด์เพื่อเร่งการย่อยสลายได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
ประเภทน้ำสกัดชีวภาพ
1. น้ำสกัดชีวภาพที่ผลิตจากพืช
1.1 น้ำสกัดชีวภาพที่ผลิตจาก ผัก ผลไม้
1.2 น้ำสกัดชีวภาพเพื่อป้องกันและกำจัดศัตรูพืช 
1.3 น้ำสกัดชีวภาพที่ผลิตจากขยะเปียก
2. น้ำสกัดชีวภาพที่ผลิตจากสัตว์
2.1 น้ำสกัดชีวภาพจากปลา
2.3 น้ำสกัดชีวภาพจากหอยเชอรี่
ประเภทน้ำสกัดชีวภาพ
 น้ำสกัดชีวภาพสามารถแบ่งออกตามประเภทของวัตถุดิบที่นำมาใช้ในการผลิตแบ่งได้เป็น 2 ประเภท
1. น้ำสกัดชีวภาพที่ ผลิตจากพืช
2. น้ำสกัดชีวภาพที่ผลิตจากสัตว์
           
  1. น้ำสกัดชีวภาพที่ผลิตจากพืช
     1.1 น้ำสกัดชีวภาพที่ผลิตจาก ผัก ผลไม้ (ชมรมเกษตรธรรมชาติ, 2542)
วิธีการทำ
1. นำพืช ผัก ผลไม้ ลงผสมกับน้ำตาลในภาชนะที่เตรียมไว้ในอัตราน้ำตาล 1 ส่วนต่อพืช ผัก ผลไม้ 3 ส่วน คลุกให้เข้ากัน หรือถ้ามีปริมาณมากจะโรยทับสลับกันเป็นชั้น ๆ ก็ได้
2. ใช้ของหนักวางทับบนพืชผักที่หมัก เพื่อกดไล่อากาศที่อยู่ระหว่างพืชผัก ของหนักที่ใช้ทับควรมีน้ำหนักประมาณ 1 ใน 3 ของน้ำหนักพืชผัก วางทับไว้ 1 คืน ก็เอาออกได้
3. ปิดฝาภาชนะที่หมักให้สนิท ถ้าเป็นถุงพลาสติกก็มัดปากถุงพลาสติกให้แน่น เพื่อป้องกันไม่ให้อากาศเข้าไปได้เป็นการสร้างสภาพที่เหมาะสมให้แก่จุลินทรีย์หมักดองลงไปทำงาน
4. หมักทิ้ง ไว้ 3-5 วัน จะเริ่มมีของเหลวสีน้ำตาลอ่อนถึงแก่เกิดขึ้น จากการละลายตัวของน้ำตาลและน้ำเลี้ยงจากเซลล์ของพืชผัก น้ำตาลและน้ำเลี้ยงเป็นอาหารของจุลินทรีย์ จุลินทรีย์หมักดองก็จะเพิ่มปริมาณมากมาย พร้อมกับผลิตสารอินทรีย์หลากหลายชนิด ดังกล่าวข้างต้น ของเหลวที่ได้เรียกว่า น้ำสกัดชีวภาพ
5. เมื่อน้ำสกัดชีวภาพมีปริมาณมากพอประมาณ 10-14 วัน ก็ถ่ายน้ำสกัดชีวภาพออกบรรจุลงในภาชนะพลาสติก อย่ารีบถ่ายน้ำสกัดชีวภาพออกเร็วเกินไป เพราะเราต้องการให้มีปริมาณจุลินทรีย์มาก ๆ เพื่อเร่งกระบวนการหมักน้ำสกัดชีวภาพที่ถ่ายออกมาใหม่ ๆ กระบวนการหมักยังไม่สมบูรณ์จะมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกิดขึ้น ต้องคอยเปิดฝาภาชนะบรรจุทุกวันจนกว่าจะหมดก๊าซ
6. ควรเก็บถังหมักและน้ำสกัดชีวภาพไว้ในที่ร่ม อย่าให้ถูกฝนและแสงแดดจัด ๆ น้ำสกัดชีวภาพที่ผ่านการหมัดสมบูรณ์แล้ว ถ้าปิดฝาสนิทสามารถเก็บไว้ได้หลาย ๆ เดือน
7. กากที่เหลือจากการหมัก สามารถนำไปฝังเป็นปุ๋ยบริเวณทรงพุ่มของต้นได้หรือจะคลุกกับดินหมักเอาไว้ใช้เป็นดินปลูกต้นไม้ก็ได้
                น้ำสกัดชีวภาพที่มีคุณภาพดีจะมีกลิ่นหมักดอง และมีกลิ่นแอลกอฮอล์บ้าง มากน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำตาล และปริมาณผลไม้ที่หมัก ถ้าชิมดูน้ำสกัดชีวภาพจะมีรสเปรี้ยว
วิธีใช้
1. ผสมน้ำสกัดชีวภาพ กับน้ำในอัตรา 1 ส่วน ต่อน้ำ 500,1,000 ส่วน รดต้นไม้หรือฉีดพ่นบนใบ
2. เริ่มฉีดพ่นเมื่อพืชเริ่มงอกก่อนเป็นโรคและแมลงจะมารบกวน และควรทำในตอนเช้าหรือหลังจากฝนตกหนัก
3. ควรให้อย่างสม่ำเสมอ และในดินต้องมีอินทรีย์วัตถุอย่างเพียงพอ เช่น ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก หญ้าแห้ง ใบไม้แห้งและฟาง เป็นต้น
4. ใช้กับพืชทุกชนิด
5. น้ำสกัดชีวภาพเจือจางใช้แช่เมล็ดพืชก่อนนำไปเพาะ จะช่วยให้เมล็ดงอกเร็วขึ้น และจะได้ต้นกล้าที่แข็งแรงและสมบูรณ์

1.2 น้ำสกัดชีวภาพเพื่อป้องกันและกำจัดศัตรูพืช (ชมรมเกษตรธรรมชาติ, 2542)
วิธีการทำ
1. นำผลไม้ซึ่งใช้ได้ทั้งผลไม้ดิบ สุก เปลือกผลไม้ ถ้าเป็นผลไม้ที่มีฤทธิ์ทางยาสมุนไพร เช่น ผลมะม่วงหิมพานต์จะยิ่งดี หมักผสมกับน้ำตาลหมักในภาชนะที่เตรียมไว้ในอัตราส่วนน้ำตาล 1 ส่วน ต่อผลไม้ 3 ส่วน คลุกให้เข้ากัน หรือถ้ามีปริมาณมากจะโรยทับกันเป็นชั้น ๆ ก็ได้
2. ปิดฝาภาชนะที่หมักให้สนิท เพื่อป้องกันไม่ให้อากาศเข้าไปได้ หมักทิ้งไว้ 3-5 วัน จะเริ่มมีของเหลวสีน้ำตาลอ่อนถึงแก่เกิดขึ้น
3. เมื่อน้ำสกัดชีวภาพมีปริมาณมากพอ ประมาณ 10-14 วัน ก็ถ่ายน้ำสกัดชีวภาพออกบรรจุลงในภาชนะพลาสติก อย่ารีบถ่ายน้ำสกัดชีวภาพออกเร็วเกินไป เพราะเราต้องการให้มีจุลินทรีย์มาก ๆ เพื่อเร่งขบวนการหมักน้ำสกัดที่ถ่ายออกมาใหม่ กระบวนการหมักยังไม่สมบูรณ์ จะมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกิดขึ้น ต้องคอยเปิดฝาภาชนะบรรจุทุกวันจนกว่าจะหมดก๊าซ
4. นำสมุนไพรร่วมกับน้ำสกัดชีวภาพ ได้แก่ ใบสะเดา ตะไคร้หอม ฟ้าทลายโจร กระเทียม พริกขี้หนู ว่านหางจระเข้ ขิงข่า และยาสูบ เป็นต้น นำมาทุบหรือตำให้แตก ใส่น้ำให้ท่วม หมักไว้ 1 คืน เพื่อสกัดเอาน้ำสมุนไพร นำไปกรองเอาแต่น้ำ
วิธีใช้
1. ผสมน้ำสกัดชีวภาพกับน้ำสมุนไพรและน้ำในอัตราส่วนน้ำสกัด 1 ส่วน น้ำสมุนไพร 1 ส่วน และน้ำ 200 – 500 ส่วน
2. ฉีดพ่นต้นพืชให้เปียกทั่ว ควรเริ่มใช้หลังต้นพืชเริ่มงอก ก่อนที่โรคและแมลงจะมารบกวน
3. ควรใช้ในตอนเช้าหรือหลังฝนตก และใช้อย่างสม่ำเสมอ
1.3 น้ำสกัดชีวภาพที่ผลิตจากขยะเปียก (บุญเทียม, 2538)

วิธีการทำ
1. นำขยะเปียก ได้แก่ เศษอาหาร เศษผัก ผลไม้ จำนวน 1 กิโลกรัม
2. นำมาใส่ถั่งหมัก แล้วเอาปุ๋ยจุลินทรีย์โรยลงไป 1 กำมือ หรือประมาณเศษ 1 ส่วน 20 ของปริมาตร ของขยะ
3. ปิดฝาให้เรียบร้อย หมักไว้ 10-14 วันจะเกิดการย่อยสลายของขยะเปียกบางส่วนกลายเป็นน้ำ
4. กรณีที่ขยะหอมคล้ายกับกลิ่นหมักเหล้าไวน์ วิธีการดังกล่าวจุลินทรีย์จะสามารถย่อยสลายขยะเปียกได้ประมาณ 30-40 % ส่วนที่เหลือประมาณ 60-70 % จะกลายเป็นกากซึ่งก็คือปุ๋ยหมักสามารถนำไปใช้ในการเกษตรได้

2. น้ำสกัดชีวภาพที่ผลิตจากสัตว์
2.1 น้ำสกัดชีวภาพจากปลา
อัตราส่วน /1 ถัง 200 ลิตร
ปลาสด 40 กก.
กากน้ำตาล 20 กก.
สารเร่งผลิตปุ๋ยหมัก 200 กก. (1 ซอง)
วิธีการทำ
1. เตรียมสารเร่งผลิตปุ๋ยหมัก 1 ซอง ละลายน้ำอุ่นประมาณ 20 ลิตร คนให้เข้ากันประมาณ 15 – 30 นาที (อย่าให้น้ำนิ่ง)
2. นำปลาสดและกากน้ำตาล ที่เตรียมไว้ใส่ถัง 200 ลิตร และนำสารเร่งทำปุ๋ยหมักที่เตรียมเสร็จแล้วใส่ในถังรวมกับปลาสด และกากน้ำตาล
3. ใส่น้ำพอท่วมตัวปลา ( ½ ถัง ) แล้วคนให้เข้ากัน ตั้งทิ้งไว้ที่อุณหภูมิปกติ ( 30 – 35 องศา ) ไม่ปิดฝา ควรก่อนวันละ 4 – 5 ครั้ง ตลอดระยะเวลาในการหมัก
4. ระยะเวลาในการหมักประมาณ 20 – 30 วัน ปลาจะย่อยสลายหมด เติมน้ำให้เต็มถัง และคนให้เข้ากันก่อนที่จะนำไปใช้ จะได้ปุ๋ยชีวภาพ 200 ลิตร
   อัตราการใช้                            ปุ๋ยชีวภาพ             น้ำ
            ฉีดพ่นทางใบ          1 ลิตร      200 ลิตร
            ราดโคน   1 ลิตร      200 ลิตร

หมายเหตุ สารเร่งผลิตปุ๋ยหมักขอได้จาก กรมพัฒนาที่ดินหรือสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดใกล้บ้าน สถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดจันทบุรี โทร. 039-371009, 039-371230

2.2 น้ำหมักชีวภาพจากปลา (สุริยา,2542)
วิธีการทำ
1. นำพุงปลาและเลือดปลามาทำการบดให้มีขนาดเล็ก
2. นำไปหมักโดยใช้กรดมดเข้มข้น (formic acid) หรือกรดน้ำส้มสายชูเข้มข้น (Acetic acid) 3.5 % (โดยปกติน้ำส้มสายชูที่ขายในท้องตลาดจะมีความเข้มข้น 5 % สามารถนำใช้ผสมในสูตรได้เลย) ปริมาณที่ใช้ร้อยละ 3.5
3. ผสมให้เข้ากัน แล้วเติมน้ำตาลในปริมาณร้อยละ 20 เพื่อช่วยดับกลิ่นคาวจากเศษปลา
4. คนให้เข้ากันและคนติดต่อกัน อย่างน้อยเป็นเวลา 7 วัน ในระยะนี้จะสังเกตเห็นว่าพุงปลาเริ่มมีการละลายออกมาเป็นสารละลายเกือบหมดแล้ว ทำการหมักต่อไปอีกเป็นเวลา 21 วัน ระหว่างนี้ทำการคนเป็นครั้งคราว การหมักปุ๋ยปลาถ้าใช้เวลานานจะได้ปุ๋ยปลาที่มีคุณภาพและกลิ่นที่ดี

วิธีใช้
อัตราใช้ 10 – 15 ซีซี ฉีดพ่นทางใบทุก ๆ 15 วัน หรือใช้รดโคนต้นในปริมาณ 25 – 30 ซีซีต่อต้น
2.3 น้ำสกัดชีวภาพจากหอยเชอรี่ (บุญยง ใยแสง, 2543)
วัสดุอุปกรณ์
1. เนื้อหอยเชอรี่ที่ไม่มีเปลือก
2. ไข่หอยเชอรี่
3. พืชสดอ่อน-แก่
4. เนื้อหอยเชอรี่พร้อมเปลือก
5. น้ำตาลโมลาส
6. ถังหมักที่มีฝาปิด ขนาด 30 ลิตร หรือ 200 ลิตร
7. หัวเชื้อจุลินทรีย์ธรรมชาติ
8. ถังบรรจุหัวเชื้อจุลินทรีย์ธรรมชาติ
9. แกลลอน/ถัง บรรจุผลิตผลปุ๋ยหมักจากหอยเชอรี่
10. กรวยกรองปุ๋ยน้ำหมักจากหอยเชอรี่

วิธีการทำ
วิธีที่ 1 การทำน้ำหมักชีวภาพจากหอยเชอรี่ทั้งตัวพร้อมเปลือก
                    นำตัวหอยเชอรี่ทั้งตัวมาทุบหรือบดให้ละเอียด จะได้เนื้อหอยเชอรี่พร้อมเปลือกและน้ำจากตัวหอยเชอรี่ และนำไปผสมกับน้ำตาลโมลาส และน้ำหมักหัวเชื้อจุลินทรีย์ธรรมชาติ อัตรา 3:3:1 คนให้เข้ากัน และนำไปบรรจุในถังหมักขนาด 30 ลิตร หรือ 200 ลิตร อย่างใดอย่างหนึ่งปิดฝาทิ้งไว้อาจคนให้เข้ากันหากมีการแบ่งชั้น ให้สังเกตดูว่ามีกลิ่นเหม็นหรือไม่ ถ้ามีกลิ่นเหม็นให้ใส่น้ำตาลโมลาสเพิ่มขึ้น และคนให้เข้ากันจนกว่าจะหายเหม็น ทำอย่างนี้เรื่อยไปจนกว่าจะไม่เกิดแก๊ซให้เห็นบนผิวหน้าของน้ำหมักหอยเชอรี่ แต่จะเห็นความระยิบระยับอยู่ที่ผิวหน้าน้ำหมักดังกล่าว บางครั้งอาจจะพบว่ามีตัวหนอนลอยบนผิวหน้าและบริเวณข้างถังภาชนะบรรจุ ควรรอจนกว่าตัวหนอนดังกล่าวตัวใหญ่เต็มที่และตายไป ถือว่าน้ำหมักหอยเชอรี่ทั้งตัวเสร็จสิ้นขบวนการกลายเป็นน้ำหมักชีวภาพหอยเชอรี่ สามารถนำไปใช้ได้หรือนำไปพัฒนาผสมกับปุ๋ยน้ำอื่น ๆ ใช้ประโยชน์ต่อไป
วิธีที่ 2 การทำน้ำหมักชีวภาพจากหอยเชอรี่
                    นำไข่หอยเชอรี่หรือกลุ่มไข่หอยเชอรี่มาทุบหรือบดให้ละเอียด จะได้น้ำไข่หอยเชอรี่พร้อมเปลือก แล้วนำไปผสมกับน้ำตาลโมลาสและน้ำหมักหัวเชื้อจุลินทรีย์ธรรมชาติ อัตรา 3:3:1 คนให้เข้ากันแล้วนำไปหมักตามขบวนการเช่นเดียวกับวิธีที่ 1
วิธีที่ 3 การทำน้ำหมักชีวภาพจากไข่หอยเชอรี่และพืช
                    นำไข่หอยเชอรี่หรือกลุ่มไข่หอยเชอรี่มาทุบหรือบดให้ละเอียด และนำไปผสมกับพืชส่วนที่อ่อน ๆ หรือส่วนยอดความยาวไม่เกิน 6 นิ้ว หรือไม่เกิน 1 คืบ ที่หั่นหรือบดละเอียดแล้วเช่นกัน แล้วนำมาผสมกันในอัตราส่วน ไข่หอยละเอียด : น้ำตาลโมลาส : พืชส่วนอ่อนบดละเอียด และน้ำหมักหัวเชื้อจุลินทรีย์ธรรมชาติ คือ 3:3:1 แล้วนำไปหมักตามขบวนการเช่นเดียวกับวิธีที่ 1
วิธีที่ 4 นำตัวหอยเชอรี่ทั้งตัวจำนวนเท่าใดก็ได้มาต้มในกะทะ
                    พร้อมทั้งใส่เกลือแกงผสมไปด้วยในจำนวนพอเหมาะ เพื่อให้เนื้อหอยเชอรี่แยกจากเปลือกได้ง่ายขึ้น และนำเฉพาะเนื้อหอยเชอรี่มาบดให้ละเอียด ให้ได้จำนวน 3 ส่วน เพื่อผสมกับน้ำตาลโมลาสและน้ำหมักจากเชื้อจุลินทรีย์ธรรมชาติอัตรา 3:3:1 คนให้เข้ากันแล้วนำไปหมักตามขบวนการเช่นเดียวกับวิธีที่ 1
วิธีที่ 5 การทำน้ำหมักชีวภาพจากเนื้อหอยเชอรี่และพืชสด
                    นำเนื้อหอยเชอรี่ที่ได้จากการต้มกับเกลือเหมือนวิธีที่ 4 มาบดให้ละเอียดแล้วนำไปผสมกับ น้ำตาลโมลาส และชิ้นส่วนของพืชที่อ่อนๆเหมือนอัตราส่วนเนื้อหอยเชอรี่บดละเอียด : น้ำหมักหัวเชื้อจุลินทรีย์ คือ 3:3:1 ผสมให้เข้ากันอย่างดี แล้วนำไปหมักเช่นเดียวกับขบวนการเช่นเดียวกับวิธีที่ 1
วิธีที่ 6 การทำน้ำหมักชีวภาพจากเนื้อหอยเชอรี่ ไข่หอยเชอรี่ และพืชสด
                    วิธีการนี้เป็นการผสมปุ๋ยหมักแบบเบ็ดเสร็จ ไม่ต้องแยกวัสดุแต่ละชนิดควรใช้อัตราส่วนดังนี้ เนื้อหอยเชอรี่พร้อมเปลือก หรือเนื้อหอยเชอรี่อย่างเดียว : ไข่หอยเชอรี่ : พืชอ่อน อัตรา 3:3:5 – 6:2:3มีข้อสังเกตเพียงดูว่ามีกลิ่นเหม็นหรือไม่เพียงใด หากมีกลิ่นเหม็นให้เติมน้ำตาลโมลาส และน้ำหมักหัวเชื้อจุลินทรีย์ธรรมชาติเพิ่มขึ้นจนกว่าจะไม่มีกลิ่น จะใช้เวลานานแค่ไหนเพียงใด ให้ดูลักษณะผิวหน้าของน้ำหมักเช่นเดียวกับการทำน้ำหมักหัวเชื้อจุลินทรีย์ธรรมชาติ
อัตราการใช้
                    พืชที่มีอายุน้อย ระยะการเจริญเติบโตแรก ๆ ใช้อัตรา 1:500 – 10,000 หรือจากการทดสอบเบื้องต้นพบว่าอัตราที่เหมาะสม คือ 20 ซีซี / น้ำ 20 ลิตร สามารถใช้ได้ 7 –10 วัน ขึ้นอยู่กับชนิด อายุ ช่วงการเจริญเติบโตของแต่ละพืชว่าเป็นพืชผัก ไม้ดอกไม้ประดับ ไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชไร่ ข้าว เป็นต้น ซึ่งยังต้องการข้อมูลจากการทดสอบอีกมาก
2.4 น้ำสกัดชีวภาพจากหอยเชอรี่ (สำรวล, 2543)
วิธีการทำ
1. การทำหัวเชื้อจุลินทรีย์ธรรมชาติ ทำจากตาเปลือกสับปะรด ซึ่งอยู่ในระยะการเจริญเติบโตเต็มที่ และสับปะรดต้องไม่มีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชมาก่อนไม่น้อยกว่า 3 เดือน โดยให้เฉือนหรือปอกเปลือกสับปะรดให้ติดตาจากผลสับปะรดสุกจำนวน 3 ส่วน สับหรือบดให้ละเอียดแล้วนำไปผสมน้ำตาลโมลาสจำนวน 1 ส่วน นำทั้ง 2 ส่วน มาคลุกเคล้าให้เข้ากันเป็นอย่างดี ใส่น้ำมะพร้าว 1 ส่วน แล้วนำใส่ภาชนะปิดฝาด้วยผ้าขาวบางทิ้งไว้ 7-10 วัน ถ้ามีกลิ่นเหม็นให้ใช้น้ำตาลโมลาสเติมไปพอสมควรแล้วคนให้เข้ากันจนกลิ่นหายไป
2. การสกัดน้ำหมักชีวภาพจากหอยเชอรี่
1. นำหอยเชอรี่ทั้งตัวมาทุบหรือบดให้ละเอียดจะได้เนื้อหอยพร้อมเปลือกและน้ำจากตัวหอยเชอรี่
2. นำน้ำตาลโมลาสและน้ำหมักหัวเชื้อจุลินทรีย์ธรรมชาติที่เตรียมไว้ในขั้นตอนที่ 1 ในอัตราส่วน 3:3:1 คือ หอยเชอรี่:น้ำตาลโมลาส:น้ำหมักหัวเชื้อจุลินทรีย์ธรรมชาติ คนให้เข้ากัน
3. นำไปบรรจุในถังหมักขนาด 30 ลิตร หรือ 200 ลิตร ทิ้งไว้ให้สังเกตุดูว่ามีการแบ่งชั้นหรือเปล่าถ้ามีจะต้องคนให้เข้ากัน ถ้ามีกลิ่นเหม็นให้ใส่น้ำตาลโมลาสเพิ่มขึ้นและคนให้เข้ากันจนหายเหม็น ทำอย่างนี้เรื่อยไปจนไม่เกิดแก๊สให้เห็นบนผิวหน้าแต่จะเห็นความระยิบระยับอยู่ที่ผิวน้ำหมักดังกล่าว ในบางครั้งอาจจะพบว่ามีตัวหนอนลอยบนผิวหน้าหรือบริเวณข้างถังภาชนะ ควรรอจนกว่าตัวหนอนดังกล่าวตัวใหญ่เต็มที่และตายไป ถือว่าการหมักเชอรี่เสร็จสิ้นขบวนการสามารถนำไปใช้ได้
ที่มา/กรมส่งเสริมการเกษตร