อุทยานแห่งชาติศรีลานนา,เชี่ยงใหม่

  อุทยานแห่งชาติศรีลานนา 
อุทยานแห่งชาติศรีลานนา
อุทยานแห่งชาติศรีลานนา มีพื้นที่รับผิดชอบ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่แตง อำเภอเชียงดาว อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วยสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์และเป็นป่าต้นน้ำลำธารที่สำคัญของแม่น้ำปิงตอนบน มีสัตว์ป่า นานาชนิด และจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงาม เช่น น้ำตกม่อนหินไหล อ่างเก็บน้ำของเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เป็นอุทยานแห่งชาติ 1 ในจำนวน 5 แห่ง ของโครงการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ เพื่อการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ วันที่ 5 ธันวาคม 2530 มีเนื้อที่ประมาณ 878,750 ไร่ หรือ 1,406 ตารางกิโลเมตร เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 60 ของประเทศ มีเนื้อที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของภาคเหนือ หรือใหญ่เป็นอันดับ 8 ของประเทศ

ลักษณะภูมิประเทศ
สภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูง สลับซับซ้อน ติดต่อกันกว้างขวางของทิวเขาผีปันน้ำ ประกอบด้วย ดอยเวียงผา ดอยหลวง ดอยปุย ดอยปันวา ดอยผาเกี๋ยง ดอยขุนโก๋น ดอยแม่ระงอง ดอยแม่แงะ และดอยโตน มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 400-1,718 เมตร โดยมียอดดอยจอมหด เป็นยอดดอยที่สูงที่สุดในเขตอุทยานแห่งชาติ เป็นต้นน้ำลำธารของลำห้วยต่างๆ ที่ไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล และแม่น้ำปิงตอนบน ได้แก่ น้ำแม่งัด น้ำแม่โก๋น น้ำแม่แวน น้ำแม่สะรวม น้ำแม่ธาตุ และน้ำแม่ขอด

ลักษณะภูมิอากาศ
ลักษณะภูมิอากาศในเขตอุทยานแห่งชาติศรีลานนา อยู่ในภูมิอากาศแบบฝนตกชุกสลับแห้งแล้งในเขตร้อน แบ่งออกเป็น 3 ฤดูกาล คือ ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน-เดือนตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,156 มิลลิเมตรต่อปี ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-เดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม-เดือนพฤษภาคม อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 26 องศาเซลเซียส

พรรณไม้และสัตว์ป่า
สังคมพืชในอุทยานแห่งชาติศรีลานนาประกอบด้วย
ป่าเต็งรัง เป็นสังคมพืชที่ปกคลุมพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติมากที่สุด กระจายอยู่ในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 200-1,200 เมตร และในระดับ 800-1,200 เมตร จะพบสนสองใบและสนสามใบขึ้นปะปนกับป่าเต็งรัง พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ เต็ง รัง เหียง พลวง รักใหญ่ เคาะ ก่อแพะ เหมือดหลวง ฯลฯ พืชพื้นล่างได้แก่ กระเจียวแดง เครือข้างครั่ง พ่อค้าตีเมีย ย่านลิเภา เฟินก้านดำ มะแฮะนก เขิงแข้งม้า เครือเดา เอื้องสาย เอื้องผา และเอื้องม้าวิ่ง เป็นต้น

ป่าเบญจพรรณ พบอยู่ตามพื้นที่หุบเขาหรือริมห้วย พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ สัก มะแฟน รกฟ้า ตะคร้อ แสลงใจ เครือไหล เปล้าหลวง ตะแบกใหญ่ ปอยาบ ไผ่ซาง ไผ่ข้าวหลาม ไผ่บงป่า ไผ่ไร่ และไผ่รวก ฯลฯ พืชพื้นล่างได้แก่ ขมิ้นป่า เฟิน ว่านสากเหล็ก เองหมายนา บุกคางคก เป็นต้น

ป่าดิบแล้ง พบขึ้นอยู่ตามร่องห้วยและหุบเขาที่ชื้นอยู่ตลอดปี พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ ยางแดง มะเม่าสาย ตะแบกเปลือกบาง มะตาด ดำดง เลือดควายใบใหญ่ ไผ่หอบ ไผ่หก ต๋าว ฯลฯ พืชพื้นล่างได้แก่ เครือไหล ก๋าวเครือ หนามปู่ย่า เครือพันซ้าย เครือนมวัว หยั่งสมุทร หวาย ข่าป่า เป็นต้น

ป่าสนเขา พบตามสันเขาที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 800 เมตรขึ้นไป พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ สนสองใบ สนสามใบ ดาวราย ก่อหมาก มะม่วงหัวแมลงวัน ส้มปี้ แข้งกวาง ฯลฯ พืชพื้นล่างได้แก่ อ้าหลวง หนาดคำ ย่านลิเภา เฟินก้านดำ เป็นต้น

ป่าดิบเขา ขึ้นปกคลุมพื้นที่ชุ่มชื้นและเย็นตามขอดเขาที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,000 เมตรขึ้นไป พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ ทะโล้ กำยาน หน่วยนกงุ้ม มะห้า รักเขา มันปลา ก่อพวง ก่อขาว มะขามแป ฯลฯ พืชพื้นล่างได้แก่ กระเจียวแดง เครือข้างครั่ง พ่อค้าตีเมีย ย่านลิเภา เฟินก้านดำ มะแฮะนก และหญ้าต่างๆ เป็นต้น
สัตว์ป่าประกอบด้วย เก้ง อ้นกลาง เม่นหางพวง หมาไน ชะมดเช็ด อีเห็นเครือ แมวป่า กระต่ายป่า กระรอกหลากสี หนูท้องขาว ค้างคาวขอบหูขาวกลาง ค้างคาวหน้ายาวใหญ่ นกกะลิงเขียด นกกาแวน อีกา นกจับแมลงจุกดำ นกขมิ้นน้อยธรรมดา นกนิลตวาท้องสีส้ม นกกางเขนดง นกยอดหญ้าหัวดำ นกกระจิบธรรมดา นกกระจิ๊ดเขียวปีกสองแถบ นกกินแมลงป่าอกสีน้ำตาล งูทางมะพร้าวลายขีด งูสิงบ้าน จิ้งจกดินจุดลาย ตุ๊กแกบ้าน กิ้งก่าบินคอสีส้ม กบบัว เขียดจะนา อึ่งอ่างบ้าน อี่งแม่หนาว คางคกบ้าน ปาดแคระป่า เป็นต้น ในบริเวณที่ลุ่ม แหล่งน้ำ และอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและหากินของสัตว์น้ำและสัตว์ป่าหลากชนิด ได้แก่ นกกะเต็นน้อยธรรมดา นกเป็ดแดง กบนา กบหนอง อึ่งอี๊ดข้างขีด ปลาจาด ปลาแม่แปป ปลาซิวหนวดยาว ปลาเวียน ปลาเข็ม ปลาบู่ ปลาสร้อยขาว เป็นต้น

แหล่งท่องเที่ยว
ด้านธรรมชาติที่สวยงาม
น้ำตกม่อนหินไหล   ตั้งอยู่ในท้องที่หมู่ที่ 9 ตำบลแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 60 กิโลเมตร บนดอยม่อนหินไหลซึ่งเป็นสภาพภูเขาที่สูงสลับซับซ้อนสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,200-1,700 เมตร เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่มีทั้งหมด 9 ชั้น และชั้นที่มีความสูงมากที่สุด คือ ชั้นที่ 1 มีความสูง 104 เมตร และชั้นที่ 9 เป็นชั้นบนสุดมีความสูง 90 เมตร สามารถชมทิวทัศน์ของอำเภอพร้าวได้ชัดเจน จะมีปริมาณน้ำมากในเดือนกรกฎาคม-เดือนตุลาคม มีความสวยงามทางธรรมชาติ มีความหลากหลายทางพรรณพืชและสัตว์ป่า บรรยากาศร่มเย็นและเงียบสงบน่าท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ ถ้าโชคดีอาจเห็นนกเขนหัวขาวท้ายแดงอยู่บริเวณน้ำตก

อ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล   เป็นอ่างเก็บน้ำที่ได้ชื่อว่ามีชื่อเสียงที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีสภาพภูมิทัศน์ที่สวยงามน่าท่องเที่ยว มีเรือนแพของอุทยานแห่งชาติ สำหรับบริการที่พักและอาหาร ตั้งอยู่ตำบลบ้านเป้า อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ มีเนื้อที่ประมาณ 20 ตารางกิโลเมตร เก็บกัดน้ำได้ 265 ล้านลูกบาศก์เมตร รองรับน้ำจากลำน้ำแม่งัด อยู่ติดกับที่ทำการอุทยานแห่งชาติศรีลานนา นอกจากนี้มีแหล่งชมนก และแหล่งชมปลา มีพันธุ์ปลาเช่น ปลาบึก ปลากด ปลาสวาย มีศาลาเพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถให้อาหารปลาได้อย่างใกล้ชิด ซึ่งอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติศรีลานนาไปตามถนนห้วยแม่วะ ประมาณ 100-300 เมตร

สภาพป่าธรรมชาติ   มีทิวทัศน์สวยงามบริเวณเขตติดต่อระหว่างป่าแม่งัด อำเภอพร้าว และป่าเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นป่าสองข้างทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1150 ประกอบด้วยป่าดงดิบชื้นที่สมบูรณ์สลับกับป่าเบญจพรรณ และเทือกเขาหินปูนอันสูงชัน คือ เทือกเขาดอยผาสามเส้า ปรากฏเด่นเป็นฉากหลังสูงๆ ต่ำๆ สวยงามมาก

น้ำพุเจ็ดสี   เป็นบ่อน้ำพุเย็นมีขนาด 6 x 8 เมตร มีน้ำไหลพุ่งออกมาจากใต้ดินตลอดปี น้ำใสเป็นประกายสีรุ้ง เมื่อกระทบกับแสงอาทิตย์ "ชาวบ้านจึงพากันเรียกว่า น้ำพุเจ็ดสี" เพราะในน้ำพุเจ็ดสีนี้มีธาตุแคลเซียม และเป็นแหล่งกำเนิดน้ำตกบัวตอง โดย น้ำจะไหลไปตามลำธารถึงน้ำตกบังตองเป็นระยะทางประมาณ 100 เมตร

น้ำตกบังตอง   เป็นน้ำตกธรรมชาติที่มีความสวยงามและมีลักษณะพิเศษเป็นธารหินปูน สามารถเดินเล่นตามน้ำตกได้โดยไม่ลื่น ต้นน้ำเกิดจากน้ำพุเจ็ดสี น้ำตกมีความสูงประมาณ 100 เมตร มีความลาดชันประมาณ 50 องศา มีทั้งหมด 3 ชั้น น้ำตกบัวตองจะไหลลงสู่ลำห้วยแม่ป๋อน

น้ำตกห้วยนางแล   เป็นน้ำตกขนาดเล็กที่ซ่อนตัวในป่าไม่ไกลจากหมู่บ้านมากนัก มีน้ำใส ไหลลดหลั่นกันเป็นลำห้วยตามความสูงของแนวเขา มีน้ำไหลเย็นตลอดทั้งปี มีแอ่งน้ำขนาดความกว้างประมาณ 5 x 5 เมตร สามารถลงเล่นน้ำได้ บรรยากาศร่มรื่น มีความอุดมสมบูรณ์ของพรรณไม้ยืนต้นนานาชนิด กล้วยไม้ ดอกเอื้องดิน และว่านชนิดต่างๆ มากมาย ซึ่งเหมาะแก่การพักผ่อน และเที่ยวชมอย่างยิ่ง น้ำตกห้วยนางแลตั้งอยู่ในตำบลโหล่งขอด อำเภอพร้าว สามารถเดินทางมาตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1001 (เชียงใหม่-พร้าว) ถึงหลัก กม.ที่ 58-59 แยกซ้ายมือเข้าไปประมาณ 2 กิโลเมตร และเดินเท้าต่อไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตร

น้ำตกป่าพลู   เป็นน้ำตกขนาดกลาง มีทั้งหมด 7 ชั้น อยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่ยังคงความสมบูรณ์ มีน้ำไหลตลอดปี เหมาะสำหรับผู้รักการผจญภัย ตั้งอยู่ที่ตำบลสันทราย อำเภอพร้าว ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 75 กิโลเมตร การเดินทางใช้ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1150 (เชียงดาว-พร้าว-เวียงป่าเป้า) ประมาณ กม.ที่29-30 มีทางแยกเข้าไป 8 กิโลเมตร

ถ้ำหนองผา   อยู่ห่างจากหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ศล.2 (ปางมะเยา) 14 กิโลเมตร เป็นถ้ำหินปูนขนาดใหญ่ ปากทางเข้าถ้ำมีขนาดเล็กเท่าตัวคนลอด ภายในถ้ำมีความยาวประมาณ 800 เมตร อากาศเย็นถ่ายเทได้สะดวก มีทางแยกออกเป็น 2 ชั้น แต่ละชั้นจะพบหินงอกหินย้อยตามผนังห้องและเพดานถ้ำเป็นรูปร่างต่างๆ อย่างงดงาม ภายในจะพบห้องโถงใหญ่มีความกว้างประมาณ 6 เมตร สูงประมาณ 12 เมตร จะมีหินงอกหินย้อยลงมาติดกับพื้นลักษณะเหมือนเสาหินสีขาว ระยิบระยับวับวาวตา มีความสูงประมาณ 5 เมตร และมีเสาหินลักษณะเดียวกันอีกหลายเสา มีความสูงแตกต่างกันออกไป นอกจากนั้นยังพบฝูงค้างคาวจำนวนมากชนิดต่างๆ เช่น ค้างคาวแม่ไก่ ค้างคาวหน้าหมู ฯลฯ

ถ้ำผาแดง   ตั้งอยู่ที่ดอยผาแดง ตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 75 กิโลเมตร ภายในถ้ำงดงามด้วยหินงอกหินย้อย และล้านกว้างขนาดใหญ่ ใกล้กับถ้ำผาแดงมี ถ้ำเพชร ซึ่งมีครกกระเดื่องอายุหลายร้อยปี การเดินทางใช้ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1150 (เชียงดาว-พร้าว-เวียงป่าเป้า) ระหว่าง กม.ที่ 19-20 มีทางแยกเข้าไปอีกประมาณ 13 กิโลเมตร

ดอยจอมหด   ตั้งอยู่ที่ตำบลแม่นะ อำเภอเชียงดาว ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 53 กิโลเมตร เป็นจุดชมทิวทัศน์บนยอดดอยจอมหด ซึ่งสูงประมาณ 1,718 เมตรจากระดับน้ำทะเล เป็นยอดดอยที่สูงที่สุดในเขตอุทยานแห่งชาติ สามารถมองเห็นทิวทัศน์และสภาพธรรมชาติที่สวยงามโดยรอบได้อย่างชัดเจน อีกทั้งยังเห็นสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเขาที่อาศัยอยู่บนดอยจอมหด การเดินทางใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 107 (เชียงใหม่-ฝาง) ประมาณกิโลเมตรที่ 70 แยกเข้าหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ศล.5 (แม่ระงอง) เข้าไปอีกประมาณ 15 กิโลเมตร จะถึงทางขึ้นดอย

ด้านศึกษาธรรมชาติ
เส้นทางศึกษาธรรมชาติ   อุทยานแห่งชาติศรีลานนาได้จัดทำเส้นทางล่องเรือ และเส้นทางเดินป่า เพื่อใช้ในการศึกษาและชื่นชมความหมายของธรรมชาติอยู่หลายเส้นทาง ดังนี้

เส้นทางล่องเรือชมความงามตามธรรมชาติห้วยแม่วะ เส้นทางการล่องเรือ ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร ชมธรรมชาติท่ามกลางความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าแม่งัด สภาพป่าสองฝั่งน้ำมีทั้งป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง สลับกันไป จึงก่อให้เกิดความหลากหลายของชนิดพันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์ บริเวณห้วยแม่วะ ยังจัดให้เป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุ์นกและพันธุ์ปลาที่สำคัญแห่งหนึ่งของอุทยานแห่งชาติศรีลานนา

เส้นทางศึกษาธรรมชาติดอยกิ่วดู่ ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นการศึกษาระบบนิเวศ การฟื้นตัวของธรรมชาติจากสภาพป่าที่ถูกทำลายในอดีตมาสู่ความอุดมสมบูรณ์ในปัจจุบัน ซึ่งในฤดูหนาวเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ ดอยกิ่วดู่มีความสวยงามเป็นพิเศษ ความอุดมสมบูรณ์ของป่าผืนนี้เปรียบเสมือนห้องเรียนธรรมชาติขนาดใหญ่ที่รอให้ผู้สนใจเข้าไปศึกษาอย่างไม่รู้จักจบสิ้น


เส้นทางศึกษาธรรมชาติห้วยกุ่ม ตั้งอยู่บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ศล.6 (ห้วยกุ่ม) ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 30 กิโลเมตร เป็นเส้นทางในการศึกษาธรรมชาติของป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบเขา และป่าปลูก


เส้นทางศึกษาธรรมชาติม่อนหินไหล ตั้งอยู่ที่ตำบลแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 55 กิโลเมตร เป็นเส้นทางที่ใช้ในการศึกษาธรรมชาติป่าดิบเขาที่มีความชื้นสูง มีดงเฟินซึ่งเชื่อมกับจุดชมทิวทัศน์ที่สวยงามและเส้นทางไปน้ำตกม่อนหินไหล การเดินทางใช้ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1001 (เชียงใหม่-พร้าว) ถึงกิโลเมตรที่ 79 มีทางแยกเข้าไปอีกประมาณ 14 กิโลเมตร จะถึงทางเข้าซึ่งจะผ่านหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ศล.1 (แม่แพง-ม่อนหินไหล)


เส้นทางศึกษาธรรมชาติแม่วะ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ห่างประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นเส้นทางที่ผ่านสภาพธรรมชาติที่มีความหลากหลายสูง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเต็งรัง


เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกบัวตอง-พุเจ็ดสี ตั้งอยู่ในวนอุทยานน้ำตกบัวตอง-พุเจ็ดสี ตำบลแม่หอพระ อำเภอแม่แตง ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 20 กิโลเมตร

สิ่งอำนวยความสะดวก
ที่พักแรม/บ้านพัก    มีบ้านพักให้บริการแก่นักท่องเที่ยว
ลานกางเต็นท์ อุทยานแห่งชาติจัดเตรียมสถานที่กางเต็นท์และเต็นท์ไว้ให้บริการนักท่องเที่ยว
ที่จอดรถ มีลานจอดรถให้บริการแก่นักท่องเที่ยว
บริการอาหาร    อุทยานฯ มีร้านอาหารไว้สำหรับบริการนักท่องเที่ยว
ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว    มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติ นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาขอรับบริการข้อมูลได้ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ระหว่างเวลา 8.00 - 16.30 น.

ที่ตั้งและการเดินทาง
อุทยานแห่งชาติศรีลานนา
ต.บ้านเป้า อ. แม่แตง จ. เชียงใหม่  50150
โทรศัพท์ : 0 5331 7495 (VoIP), 0 5347 9079, 0 5347 9090   โทรสาร : 0 5347 9090
 รถยนต์
การเดินทางไปอุทยานแห่งชาติศรีลานนา สามารถใช้เส้นทางได้ถึง 4 เส้นทาง คือ

ทางหลวงหมายเลข 107 สายเชียงใหม่ - ฝาง เลียบแม่น้ำปิงป่าเชียงดาวฝั่งซ้าย แม่น้ำปิงช่วงอำเภอเชียงดาว เป็นถนนลาดยางสภาพดี

ทางหลวงหมายเลข 1001 สายเชียงใหม่ - พร้าว ผ่านป่าแม่แตง ป่าแม่งัด เป็นถนนลาดยางสภาพดี ตรงกิโลเมตรที่ 79 บ้านประดู่ ตำบลแม่ปั๋ง - อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ มีทางแยกเข้าอ่างเก็บน้ำชลประทานแม่แตงเข้าสู่บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติและน้ำตกม่อนหินไหลได้

ทางหลวงหมายเลข 1150 สายปิงโค้ง เชียงดาว - พร้าว เป็นทางหลวงสายที่แยกจากทางหลวงหมายเลข 107 ผ่านป่าเชียงดาวตอนบนและป่าแม่งัดตอนบนสภาพถนนเป็นดินลูกรัง

ทางหลวงหมายเลข 1150 สายเชียงรายผ่านอำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ผ่านไปยังอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย สภาพถนนลาดยางดีมาก